มุมนักบริหาร


บุคลิกภาพสำหรับนักบริหารมือเยี่ยม

ดร.จรวยพร   ธรณินทร์

                นักบริหารทุกคนล้วนใฝ่ฝันในการก้าวขึ้นไปสู่สุดยอดของความสำเร็จ หลายคนไต่เต้าไปจนถึงจุดหมายปลายทาง แต่บางคนเดินทางไปไม่ถึงดวงดาว  ทำไมจึงเป็นเช่นนี้  หรือเพราะว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง แล้วท่านละ ท่านจะหยุด จะถอย หรือจะสู้ต่อไป
                ลองค้นหาคุณสมบัติของนักบริหารมือเยี่ยมในตัวท่าน สำรวจว่าท่านมีลักษณะและประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับนักบริหารรัฐกิจระดับสูงแล้วหรือยัง  ท่านมีปัจจัยอัจฉริยะภาพแฝงเร้นในตัวท่านหรือไม่บุคลิกภาพของท่านเหมาะสมกับการเป็นนักบริหารมืออาชีพหรือเปล่า  แบบแผนการดำเนินชีวิตของท่านทำลายคุณภาพชีวิตและสุขภาพของตนเองใช่หรือไม่  และท่านมีวิธีรับมือกับภาวะวิกฤตอย่างไร
                ขอให้ท่านค้นพบตนเองและมุ่งมั่นก้าวไปในเส้นทางนักบริหาร  เส้นทางที่ท่านได้เลือกแล้ว  จงพัฒนาบุคลิกภาพและสุขภาพซึ่งเป็นทักษะขั้นต้นของนักบริหารให้ดีเพียงพอ  เพื่อให้ท่านมีพื้นฐานในการเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ในขั้นสูงต่อไป

ทักษะและประสบการณ์ทางวิชาชีพสำหรับนักบริหารระดับสูง
                การเป็นนักบริหารระดับสูงไม่ใช่ว่าเป็นกันง่าย ๆ หรือทำได้ในระยะเวลาอันสั้น  หากแต่นักบริหารต้องสั่งสมประสบการณ์และบารมีเป็นเวลาแรมปี  จากการสำรวจของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสาขาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้เชิญมาร่วมผลิตชุดวิชาในโปรแกรมบริหารรัฐกิจ พบว่าทักษะดังต่อไปนี้คือประสบการณ์วิชาชีพซึ่งนักบริหารรัฐกิจระดับสูงทุกคนพึงต้องมี
                1.  องค์ประกอบของความสำเร็จในการทำงาน
                2.  การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนในการทำงาน
                3.  หลักและวิธีการประสานงาน
                4.  กระบวนการแก้ปัญหาและตัดสินใจ
                5.  การประชุมและการทำงานเป็นทีม
                6.  ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน
                7.  พฤติกรรมการเมืองในองค์การ
                8.  มนุษย์สัมพันธ์และการจูงใจ
                9.  การสื่อความหมายและการเขียนหนังสือราชการ
                10.  สุขภาพและการพัฒนาบุคลิกภาพ
                11.  ความรับผิดชอบในการบริหารรัฐกิจ      
                12.  การดำรงชีวิตและจริยธรรมในการทำงาน
                13.  การเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิต
-2-


                14.  กระบวนการกลุ่มและการทำงานเป็นคณะ
                15.  การพัฒนาภาวะผู้นำ

สัจธรรมแห่งชีวิต 6 ประการ
                เส้นทางไปสู่การเป็นนักบริหารของแต่ละบุคคล ย่อมเผชิญทั้งความสำเร็จ  ความผิดพลาด  ความสมหวัง  และความล้มเหลว  หากนักบริหารได้เข้าใจหลักความจริงหรือสัจธรรมแห่งชีวิต  เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจให้เข้าถึงแก่นแท้ของการดำเนินชีวิต  ก็จะช่วยให้ท่านรู้จักปล่อยวาง  รู้จักเร่งเร้า และรู้จักถอยร่นอย่างได้จังหวะอย่างเหมาะสม
                มาค้นหาสัจธรรมแห่งชีวิต 6 ประการ เพื่อให้ท่านเข้าใจตนเองและผู้อื่น รวมทั้งมีเรี่ยวแรงทำงานอย่างไม่ท้อถอย
                1.  มนุษย์เติบโตมาจากภูมิหลังที่ต่างกัน จึงทำให้มนุษย์ไม่เหมือนกัน ท่านจะคาดคั้นบีบบังคับให้ทุกคนคิดอย่างเดียวกัน พูดทำนองเดียวกันหรืออแสดงออกมาเป็นพิมพ์เดียวกันไม่ได้
                2.  ไม่มีใครที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุด แต่เพียงอย่างเดียว  ทุกคนมีทั้งดีและเลว  ขึ้นอยู่กับว่าท่านรู้จักเขาดีเพียงพอหรือไม่  ท่านให้อภัยหรือชื่นชมผลกระทำของเขาได้หรือเปล่า
                3.  มนุษย์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้  ถ้ามีความตั้งใจที่จะเรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลง  ดังนั้นจงอย่าประเมินผู้อื่นต่ำ  อย่าดูถูกเหยียบย่ำผู้อื่น  แต่จงชี้แนะวิธีทำงานที่ดีกว่าเพื่อให้เขาค้นพบการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น
                4.  มนุษย์จะทำได้หากได้รับโอกาส  และจะทำได้ดีหากมีกำลังใจได้รับคำชมและคำชี้แนะ  แต่จะนั่งรอโชคไม่ได้  ต้องสร้างโอกาส  และต้องขวนขวายหาทางจูงใจผู้อื่นมองเห็นฝีมือและความสามารถของตน
                5.  คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่การประเมินจากผู้อื่น  เขาจะถูกประเมินอยู่ตลอดเวลา  เขาจะเป็นคนดีเมื่อมีเสียงชื่นชมมากกว่าเสียงสาปแช่ง  และสุดท้ายเมื่อเขาจากโลกไปเสียงที่ประเมินครั้งสุดท้ายจะเป็นการประเมินผลงานรวมตลอดชีวิตของบุคคลนั้น
                6.  มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดต้องมีทั้งความดี  ความเก่ง  และโอกาส  จะสำเร็จหรือล้มเหลวล้วนเป็นฝีมือของเหล่ามนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น

ปัจจัยนำสู่บุคคลอัจฉริยะภาพ
                ความสำเร็จในชีวิตของนักบริหารแต่ละคนขึ้นกับปัจจัยและโอกาสหลายองค์ประกอบ บางคนโชคดีมาตั้งแต่เกิด  แต่หลายคนก็ต้องทำงานหนักกว่าจะปีนบันไดขึ้นมาถึงจุดยอด พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช อดียนายกรัฐมนตรีไทยผู้ล่วงลับไปแล้วได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า  บุคคลจะมีบุคลิกภาพที่จัดว่าอยู่ในขั้นอัจฉริยะภาพเมื่อมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ  ยิ่งมีองค์ประกอบมากยิ่งดีเยี่ยม  แต่ถ้ามีไม่ครบก็ต้องไข่วคว้าหรือเสาะแสวงหาเพิ่มเติมในภายหลัง
               

-3-


                1.  ความเป็นผู้ที่เกิดมาในตระกูลอันสูง  จะช่วยเสริมสร้างบารมี  เกียรติยศให้แก่บุตรธิดาในตระกูลนั้นได้อย่างดี  บุคคลที่เกิดมาในลักษณะคาบช้อนทอง จึงนับได้ว่ามีบุญวาสนาดี  แต่ชาติกำเนิด
                2.  บิดามารดาปลูกฝังอบรมมาดี  ความเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูของบิดามารดาทำให้บุตรธิดา เติบโตด้วยความรักความอบอุ่น  มีคุณสมบัติผู้ดี  เพราะสำเนียงส่อภาษา  กิริยาส่อตระกูล
                3.  ความเป็นเลิศทางการศึกษา  การศึกษาจนได้ปริญญาบัตร  นับว่าเป็นกลไกแห่งการยกวิทยฐานะบุคคลได้ดี  ผู้มีการศึกษาสูงย่อมได้เปรียบในแง่ของการได้พบได้ยินได้เห็นวิทยาการร่วมสมัย  มากกว่าผู้มีการศึกษาน้อย
                4.  ความเป็นผู้ใกล้ชิดสังคม  การติดตามข้อมูลข่าวสารทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี  การรู้ตื้นลึกหนาบางของสังคมวิชาชีพและวางการสังคมทั่วไปให้บุคคลเป็นที่ยอมรับของกลุ่มด้วย
                5.  ความเป็นผู้มีเพื่อนมาก  ทำให้มีคู่คิด  คู่ปรับทุกข์  ช่วยสนับสนุนเกื้อกูล  มีช่องทางในการทำงานได้กว้างขวาง
                6.  ความห้าวหาญชอบทำงานใหญ่  ช่วยให้จิตใจฮึกเหิม  คึกคัก  และกระตือรือร้นที่จะทุ่มเทความพยายามจนงานสำเร็จลุล่วง
                7.  เมตตานุภาพแก่คนทั่วไป  ผู้ที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมตตาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก  รู้จักให้อภัยและชื่นชมผู้อื่น  เป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง  และช่วยให้มองโลกในแง่ดี
                8.  ประพฤติตนเป็นผู้กระหายความรู้  แสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้ทันสมัย  ทันคนและทันเหตุการณ์  นักบริหารต้องอ่านมาก  ฟังมาก  และประชุมบ่อย  เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้มีสายตายาวและกว้างไกล
                9.  เรียนรู้ในหลายสาขาอาชีพ  จะช่วยให้มีความรู้ทั่วไปดีและสามารถคบหาสมาคมกับบุคคลได้หลายวงการ
                10.  ความยอดเยี่ยมเชิงภาษาและเจรจาได้จับใจ  นักบริหารต้องพูดและต้องฟัง  ความสามารถในการชักจูง  เชิญชวน  ปลุกใจ  เร่งเร้าและปลอบขวัญเป็นทักษะที่นักบริหารต้องใช้ทุกวัน  และต้องใช้ให้เป็นประโยชน์
                11.  ปฏิญาณเป็นเยี่ยมและเป็นผู้มากด้วยอารมณ์ขัน  ความสามารถในการเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤติ  แล้วหลบหลีกแก้ไขได้ต้องอาศัยสติปัญญาและไหวพริบ  และอารมณ์ขันจะช่วยให้นักบริหารดูเป็นกันเอง  มีวุฒิภาวะและความเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม
                12.  มุ่งมั่นในเป้าหมายและยืดหยุ่นในวิธีการ  นักบริหารย่อมต้องการความสำเร็จ  ความตั้งใจและกำลังใจอันแน่วแน่ในการทำงาน  เป็นคุณสมบัติที่ดี  แต่การทำงานอาจมีทางเลือกได้หลายทาง  นักบริหารชั้นเยี่ยมจึงต้องมีความอ่อนตัวในการแสวงหาทางเลือก  และหาทางไปถึงเป้าหมายให้จงได้




-4-


บุคลิกภาพและวิธีทำงานของนักบริหารชั้นเยี่ยม
                นายประสิทธิ์  กาญจนวัฒน์  อดีตประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีหลายสมัย  ผู้ได้รับฉายาว่า      มังกรร้ายแห่งบางขนาก  ได้เคยเล่าถึงวิธีทำงานสู่ความเป็นเลิศของนักบริหาร  ต้องประกอบด้วยกลยุทธ์ศิลปะ  และศาสตร์หลายด้าน  ดังนี้


1. รู้จักบริหารตนเอง

วางระบบให้แก่ตนเอง  ฝึกตนเองให้เป็นคนมีวินัยโดยเข้มงวดต่อตนเอง ประกอบหน้าที่ด้วยการกำหนดเป้าหมาย  นโยบาย  วิธีการ  โครงการและแผนปฏิบัติงานอย่างแจ่มชัด  ไม่เพ้อฝันปฏิบัติได้  รู้จักประพฤติให้ถูกทำนองครองธรรม  ละเว้นการกระทำที่ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง เก็บความรู้สึกมิให้ออกนอกหน้า

2.  ทำงานอย่างมีระบบ

มีโครงการ แผนงาน มีการสรุปประเมินผล  สำรวจตรวจสอบการปฏิบัติงานของตนเองและลูกน้องอยู่เสมอ ทำงานด้วยการวางเป้าหมาย และต้องทำให้ดีที่สุด ให้บรรลุเป้าหมายให้จงได้

3.  รักในงานที่ทำ

ทำงานอย่างมีชีวิตชีวา  กระตือรือร้น  ขยัน  อดทน  มุมานะบากบั่น อย่างเต็มที่  หนักเอาเบาสู้ไม่ท้อถอย  กล้าต่อสู้กล้าเอาชนะ  ไม่กลัวความยากลำบาก  ทำงานด้วยความตั้งใจ  รับผิดชอบต่อหน้าที่
4.  รู้จักใช้คนให้เหมาะกับงานและ
     รู้จักใช้งานให้เหมาะกับคน
รู้จักภูมิหน้าภูมิหลัง  นิสัยใจคอ  จุดดีจุดด้อยของคน  รู้จักชื่อและนิสัย ยิ่งรู้ถึงบุตรภรรยา/สามีได้ยิ่งดี  ต้องรู้ความคิดความอ่านว่ามีแนวคิดแบบไหน  อ่านคนให้ทะลุ  ให้ความสำคัญของคน
5.  รู้หลักโอนอ่อนผ่อนปรน
    (ช้า-เร็ว/ อ่อน-แข็ง/ มาก-น้อย)
ยึดหลักช้า-เร็ว  อะไรควรทำช้าก็ไม่ใจร้อน  อะไรเร่งด่วนต้องทำทันที อย่าปล่อยค้างเพราะบางทีพรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว  อ่อน-แข็ง  อะไรที่ควรผ่อนปรนก็คงยืดหยุ่น  อะไรที่ควรแข็งต้องยืดหยัดยอมไม่ได้ มาก-น้อย อะไรควรทำให้มากก็ทำให้มาก  อะไรควรน้อยก็ทำให้น้อยลง  ไม่หย่อนไม่ตึง
6.  แสวงหาความรู้ใส่ตัวเองอยู่
     ตลอดเวลา
หาความรู้เพิ่มเติมให้ทันเกม  ทันสถานการณ์  อ่านหนังสือพิมพ์  ดูโทรทัศน์  เข้าสัมมนา
7.  จิตใจกว้างขวาง
ไม่คิดแคบ  ไม่คิดเล็กคิดน้อย  จิตคับแคบจะทำงานใหญ่ไม่ได้  ถ้าจะทำงานใหญ่อย่าคิดเรื่องเล็ก
8.  มีสายตายาวไกล
ทำอะไรไม่หวังผลเพียงระยะสั้น ๆ หากต้องหวังผลระยะยาวด้วย
9.  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
กล้าคิด  กล้าทำ  กล้านำ  กล้าสู้  มิใช่เป็นผู้รับคำสั่งเพียงประการเดียว



-5-



10.  รู้จักบริหารเวลา
เวลาทุกนาทีเป็นสิ่งที่มีค่า  ใช้ทุกนาทีให้เกิดประโยชน์ เวลาไหนควรทำอะไร  ทำนานาแค่ไหน  ต้องกำหนดโปรแกรมให้แน่นอน อะไรเร่งด่วนก็รีบทำก่อน  แยกเรื่องด่วนกับไม่ด่วนออกจากกัน
11.  เก็บรับบทเรียนในอดีต
ป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดเกิดซ้ำอดีต แก้ไขความผิดพลาด นำเอาความผิดพลาดมาเป็นครู  เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดอีก
12.  มีคุณธรรม  พรหมวิหารสี่
       (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)
เมตตาเห็นใจ  กรุณาให้ความช่วยเหลือ มุทิตาเมื่อคนอื่นได้ดีก็ยินดีด้วย และอุเบกขา เป็นผู้วางเฉย  ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรจนเกินไป ไม่จริงจังกับชีวิตการงานจนเกินขอบเขต  รู้จักปล่อยวาง  สนุกสนานร่าเริง    ซึ่งจะทำให้ไม่เครียด
13.  รู้จักรุก  รู้จักถอย  เรียนรู้จาก
       ผู้อื่น
รู้จักชนะโดยไม่หยิ่งผยอง  รู้จักแพ้อย่างสงบ  รู้จัดให้อภัย  เรียนรู้จากผู้อื่น  แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นศัตรูคู่ปรปักษ์กับเรา


บุคลิกภาพสำหรับนักบริหารระดับนายกรัฐมนตรี
                ได้มีการสำรวจประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นของนักบริหารรัฐกิจและนักวิชาการ  เกี่ยวกับคุณสมบัติของ  นายกรัฐมนตรีในอุดมคติ  พบข้อมูลที่น่าสนใจยิ่ง  ซึ่งนักบริหารท่านใดที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นผู้นำของประเทศน่าจะได้ศึกษาสำรวจดูว่า  ท่านมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือขาดคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด  เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านพัฒนาบุคลิกภาพให้เป็นเลิศและให้เหมาะสมกับตำแหน่งเกียรติยศ
 
1.  รู้จักประมุขศิลป์
มีบารมี  มีอำนาจ  มีศรัทธา  ได้รับความเกรงใจ  เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมีเสน่ห์  มีวาทศิลป์ในการเจรจา  มีอารมณ์ขัน  รู้จักเลือกใช้ข้อมูล

2.  ผู้ฉลาดเฉลียวรอบรู้
มีไหวพริบปฏิภาณเฉียบแหลม  สุขุม  รู้จักใช้ดุลพินิจ  แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีระบบข้อมูลดี  มีความรู้รอบตัวสูงโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ กฎหมาย  การเมือง  การศึกษา  วัฒนธรรม  ประเพณี  และศิลปะ
3.  ผู้กล้าหาญและเข้มแข็ง 
กล้าคิด  กล้าพูด  กล้าตัดสินใจ  กล้าเผชิญปัญหาและความรับผิดชอบ  กล้าทำด้วยความมุ่งมั่นเด็ดขาด  ไม่เกรงกลัวอิทธิพลอำนาจมืด

4.  ผู้มีความพร้อมและอุทิศตน
พร้อมที่จะอุทิศตนรับใช้ชาติ  ด้วยความเสียสละเพื่อประโยชน์สุข ของส่วนร่วม  ใจกว้างรับฟังข้อคิดเห็นของทุกฝ่าย  ลงมาคลุกกับปัญหาของประชาชน


-6-

 
5.  ผู้มีคุณธรรม
ผู้นำต้องซื่อสัตย์  ยุติธรรม  ไม่โกงกิน  ไม่เห็นแก่พรรคพวก วางตัวเป็นตัวอย่างที่ดี  ให้น่าเคารพนับถือ
6.  ผู้มีความสามารถและ
      ประสบการณ์
มีความสามารถสูงในการแก้ปัญหาระดับชาติ  ใช้ประสบการณ์ในการทำงานจนประสบความสำเร็จอย่างดี
7.  ผู้เด็ดเดี่ยวและฉับไว
แก้ปัญหาได้ทันฉับพลัน  แก้ไขสถานการณ์วิกฤติได้อย่างรวดเร็ว
8.  ผู้หนักแน่นและมั่นคง
มีนโยบายเป้าหมายที่แน่นอน  มีจุดยืนและใช้ความพยายามผลักดัน  ในการทำงาน
9.  ผู้มีความคิดสร้างสรรค์
มองการณ์ไกลไปข้างหน้า  มีแนวคิดใหม่ ๆ มองได้กว้างไกลกว่าผู้อื่น


แนวทางพัฒนาบุคลิกภาพสำหรับนักบริหาร
                การพัฒนาบุคลิกภาพของนักบริหาร  ต้องใช้เทคนิคและกระบวนการหลายวิธี  และต่อไปนี้คือแนวคิดหลักในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง  ข้อสำคัญคือไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับทุกคน  แต่นักบริหารต้องแสวงหาวิธีที่เหมาะกับตนเอง
                1.  ต้องเข้าใจความหมายของความสำเร็จ
                                ความสำเร็จคือการบรรลุถึงเป้าหมายในชีวิตตามภูมิหลัง  และความสามารถที่น่าจะบรรลุได้ ความสำเร็จไม่ได้หมายความว่าจะล้มเหลวไม่ได้  แต่หมายถึงว่าท่านจะยอมรับความล้มเหลวไม่ได้ต่างหาก  แต่ถ้าล้มลงก็ต้องลุกขึ้นได้ สู้ไม่ถอยและปรับกลยุทธ์ใหม่
                2.  ต้องฝึกฝนเพื่อความสำเร็จ
                                Ä วิเคราะห์จุดดีจุดอ่อนของตนเอง
                                Ä วางแผนที่แน่นอนชัดเจนในการแก้ไข
                                Ä สร้างวินัยควบคุมตนเอง  ผลักดันให้พยายามทำตารางเวลา
                                Ä ทุ่มเทความพยายามในการทำงานตามแนวใหม่ แม้ ต้องเหนื่อย
                                Ä ฝึกทำงานเพื่อให้เกิดความสำเร็จ  จนมีนิสัยทำงานที่ดี
                                Ä อ่าน/ ฟัง/ ประชุม  เรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ใฝ่ดี
                3.  ต้องปรับภาพพจน์ใหม่
                          คนที่ทำงานล้มเหลวจะมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากผู้ประสบความสำเร็จ  ลองเปลี่ยนภาพของท่านให้เป็นภาพของผู้ที่ทำงานสำเร็จ




-7-


ภาพของคนล้มเหลว
1. คิดว่าความสำเร็จขึ้นกับเส้นและอิทธิพล
2. โทษโชคชะตา

3. ไม่ยอมรับว่าตนเองผิดพลาด
4. ได้งานมาแต่ละชิ้น มักบ่นมากกว่าทำ
5. เมื่อพูดถึงงานไม่มีความประทับใจ
6. ห่วงกลัวแต่ว่าตนเองจะเสียเปรียบ
7. ไม่รู้ตัวว่าล้มเหลว
8. ไม่เคยเอางานไปทำที่บ้าน
9. ขาดพลังงาน
ภาพของคนทำงานสำเร็จ
1. ปัจจัยความสำเร็จอยู่ในตัวถือทำงานหนักและใช้สติปัญญา
2. มีแนวคิดว่าความสำเร็จอยู่ทีโอกาสซึ่งควบคุมได้ จึงเตรียม
    ความพร้อมและสร้างโอกาสอยู่เสมอ
3. รับผิดชอบการกระทำและความผิดพลาดของตนเอง
4. ทุ่มเททำงานหนัก
5. มีความสุขในการทำงาน
6. ทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาให้ตนเองได้ประโยชน์
7. ปรับตัวได้รวดเร็ว
8. ทำงานค้างให้ลุล่วงสำเร็จ แม้ต้องนำไปทำต่อที่บ้าน
9. รู้สึกมีพลังงาน มีชีวิตชีวา เล่นกีฬาเป็นประจำ

                4. ต้องปรับบุคลิกในการแสดงออกต่อหน้าผู้อื่น
                                แต่งกายและใช้เครื่องใช้สอยที่แสดงถึงรสนิยมดี
                                รู้จักทักษะสังคม  วางตัวเหมาะสม  โดยเฉพาะทักษะที่โต๊ะอาหารและห้องประชุม
                                รู้จักแสดงภาษากาย  กิริยาท่าทาง  ให้น่าดูน่าฟัง
                                รู้จักการแสดงตัวได้เหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับ  แต่ควรเป็นบทพระเอง พระรอง หรือ
                                    ผู้สนับสนุนพระเอก ไม่ควรเล่นบทผู้ร้าย
                                รู้จักปรากฏตัวให้เด่น สง่า สำคัญ มีมาดผู้นำที่สุภาพและสุขุม
                                เมื่อเสนอข้อมูลต้องนำเสนออย่างมีชีวิตชีวา  ด้วยความกระตือรืนร้น
                                ยืนหรือนั่งให้ผึ่งผาย  นัตย์ตามองนิ่ง  หน้าขรึม ศีรษะนิ่งควบคุมอากัปกิริยาให้ราบเรียบ
                                    เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ
                5.  การแสดงอำนาจของผู้มีอำนาจที่แท้จริง
                                ต้องมีกลยุทธ์ในการชักจูงผู้อื่นให้คล้อยตาม เช่น เชิญมาประชุม ปลุกระดมให้ตื่นตัว
                                ต้องรู้ว่าจะใช้อำนาจอะไร เมื่อใด กับใครและอย่างใด  จึงจะไม่เป็นดาบสองคม
                                ก่อนสั่งผู้อื่น ต้องฝึกรับคำสั่งให้เป็น
                                ต้องรู้จักการใช้อำนาจโดยเริ่มการมอบงานง่าย ๆ แล้วค่อยเสริมฐานอำนาจให้เข้มแข็งขึ้น
                                เมื่อถูกท้าทายอำนาจ  ต้องเข้มแข็ง แสดงภาวะผู้นำด้วยความกล้าหาญและนุ่มนวล
                                ผู้มีอำนาจที่แท้จริง เป็นผู้ทำตัวให้มีเสน่ห์เสมอ
                                รู้จักสร้างเครือข่ายเพื่อหาผู้สนับสนุนอย่างชอบธรรม


-8-


สุขบัญญัติสำหรับนักบริหาร
                นอกเหนือไปจากการพัฒนาบุคลิกภาพแล้ว นักบริหารจำเป็นต้องเอาใจใส่บำรุงรักษาสุขภาพของร่างกาย และจิตใจ  เพื่อให้ร่างกายมีพลังในการทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย  และรู้จักผ่อนคลายจิตใจเมื่อเกิดความเครียด
                ต่อไปนี้เป็นสุขบัญญัติ 10 ประการสำหรับนักบริหาร
                                1.  เรียนรู้เรื่องสุขภาพ
                                2.  ปฏิบัติตนตามหลักการสร้างเสริมสุขภาพ
                                3.  กินอาหารดีมีประโยชน์ในปริมาณพอเหมาะ
                                4.  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
                                5.  สร้างอารมณ์ขัน  ร้องเพลงได้วันละเพลง
                                6.  รู้จักป้องกันอัตราเสี่ยงภัยด้านสุขภาพ
                                7.  ตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง
                                8.  ป้องกันอุบัติภัย
                                9.  พัฒนาบุคลิกภาพให้มั่นคง
                                10. สร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม

โภชนาการสำหรับนักบริหาร
                ปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพ คือ เรื่องของอาหารการกิน  นักบริหารควรใช้หลักการในเรื่องโภชนาการดังนี้
                                1.  กินให้ครบ 3 มื้อ  ไม่กินจุกจิกระหว่างมื้อ
                                2.  ไม่เกินอาหารมากเกินไปโดยเฉพาะไขมัน กินข้าวพอประมาณ กินปลาเป็นประจำ
                                3.  ควรใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไลโนเลทิกสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง
                                4.  หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง
                                5.  กินอาหารจำพวกผักและผลไม้ให้มาก
                                6.  ไม่กินอาหารรสเค็มจัด  เพราะจะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
                                7.  ไม่กินอาหารหวานจัด  เพื่อป้องกันโรคอ้วน
                                8.  ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว
                                9. อย่าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก
                                10.  เมื่อไปงานเลี้ยงมาแล้ว มื้อต่อไปควรลดปริมาณลง



-9-


วิธีรับมือกับความวิตกกังวล
                ความเครียดวิตกกังวลเป็นคู่แฝดของนักบริหารเสมอ ทั้งนี้เพราะหน้าที่ของนักบริหารคือการ  แก้ปัญหา ซึ่งปัญหาย่อมนำความวิตกหวั่นเกรงให้กับคู่กรณี นายประวีณ  ณ นคร  อดีตเลขาธิการ สำนักงาน ก.พ. ได้เสนอแนะวิธีรับมือกับความวิตกกังวลของนักบริหารระดับสูงไว้ดังนี้  
ปัจจัยที่ทำให้นักบริหารระดับสูงกังวล
1. งาน
      - งานไม่ถูกใจ  มาก  ยาก  เสี่ยงอันตราย
2. คน
     -  ผู้บังคับบัญชา (สั่งมาก  ไม่ชอบหน้า)
     -  ผู้ใต้บังคับบัญชา (ไม่ร่วมมือ  เลื่อยเก้าอี้)
     -  ผู้เกี่ยวข้องอื่น (นักการเมือง  การประท้วง ผู้ขัด 
              ผลประโยชน์  ผู้มีอิทธิพล  ญาติพี่น้อง)
     -  ตนเอง (สุขภาพไม่ดี  ความรู้ไม่พอ  อยากก้าว
        หน้า)
 3. สิ่งแวดล้อม
     - ระเบียบแบบแผน (ตั้ง ยุบ เลิก เปลี่ยน)
     - การเมือง (เปลี่ยนรัฐมนตรี)
     - เศรษฐกิจ (งบจำกัด  งานขยาย)
     - สังคม (ต้องรักษาชื่อเสียงศักดิ์ศรีแต่เงินเดือน
       น้อย)
4. จิตใจ
     - ความอยาก (อยากได้ ดีเด่น รวย)
     - ความเกลียด (โกรธ อิจฉา ไม่ถูกชะตา)
     - ความกลัว (กลัวผิดระเบียบ กลัวเสียหาย
       กลัวไม่สำเร็จ)
     - ความห่วง (ห่วงทำไม่ดี ห่วงคนอื่น
       ห่วงประเทศชาติ)
     - ความรำคาญ (ไม่อยากถูกรบกวน ไม่อยากยึด
       ระเบียบ ไม่ชอบพิธีการ)

วิธีลดความกังวล
1. อย่าเอาปัญหามาเป็นความกังวล
     เพราะปัญหาเป็นงาน
    งานผู้บริหารคือแก้ปัญหาและตัดสินใจ
     ต้องสนุกในการแก้ปัญหา เล่นเกมให้เป็น
2.  ใช้เทคนิค 8 ปล. เพื่อลดความกังวล
     เปลื้อง    ค่อย ๆ เอาออกทีละเรื่อง
     ปลด       ทำให้สิ่งที่ติดอยู่หลุดออกไป
     ปลิด       ตัดสินแน่วแน่เด็ดมันทิ้งไป
     ปลีก       แยกตัวออก หลบไป
     เปลี่ยน   ทดแทนด้วยสิ่งอื่น
     ปล่อย    วางมือ วางเฉย  คิดว่าไม่ใช่ของเรา
     ปลอบ    เอาใจให้กำลังใจตนเอง
     ปลง       ยอมรับสภาพเป็นกรรมของเรา
3.  ให้เทคนิคตัว และ ตัว 
     ผ่อน   ยืดออกไป  ยืดเวลา
     พัก     หยุดชั่วคราว แล้วกลับมาใหม่
     พูด     ระบายออกไป  แต่อย่าพูดกับหนังสือพิมพ์
      พอ     รู้จักหยุด  เลิก   ไม่โลภ
4. สร้างคุณสมบัติที่ดีของนักบริหาร
    ร่างกาย   สมบูรณ์สู้งานหนักได้
    จิตใจ  เข้มแข็ง
    สมอง   เฉียบแหลม  ตัดสินได้
    คุณธรรม  มีเครื่องยึดเหนี่ยว
    พฤติกรรม  สร้างสรรค์

ขอให้นักบริหารทุกท่านเป็นคนดี  คนเก่ง  คนเฮง  และก้าวไปให้ถึงดวงดาว

ความคิดเห็น